หน้าเว็บ

เต่าร้างแดง

เต่าร้างแดง
ชื่อสามัญ Fishtail Palm, Burmese Fishtail Palm, Clustered Fishtail Palm, Common Fishtail Palm, Wart Fishtail Palm, Tufted Fishtail Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caryota mitis Lour. 
จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAEE

สมุนไพรเต่าร้างแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขื่องหมู่ (ภาคเหนือ), เต่ารั้งมีหน่อ (ภาคกลาง), มะเด็ง (ยะลา), งือเด็ง (มลายู-นราธิวาส), เต่าร้าง, เก๊าหม้าย เก๊ามุ่ย เก๊าเขือง (คนเมือง), มีเซเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), เก๊าเขือง (ไทลื้อ), ซึ (ม้ง), จึ๊ก (ปะหล่อง), ตุ๊ดชุก (ขมุ) เป็นต้น


ลักษณะของเต่าร้างแดง


  • ต้นเต่าร้างแดง  จัดเป็นพรรณไม้ประเภทปาล์ม ต้นแตกกอมีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร และลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร มักขึ้นเดี่ยว ๆ หรือแตกกอเป็น 2-4 ต้น ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีลักษณะเกลี้ยงเป็นสีเขียวถึงสีเทาอมเขียว เป็นปาล์มที่มีอายุสั้น หลังออกดอกเป็นผลแล้วต้นจะค่อย ๆ ตายไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกกอ เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย พม่า หมู่เกาะอันดามัน อินโดนีเซีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทางตอนใต้ของจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเสื่อมโทรม ริมลำธาร ตามที่ลุ่ม และตามแนวหลังป่าชายเลนที่ติดกับป่าบกหรือป่าพรุ

ต้นเต่าร้างแดง

  • ใบเต่าร้างแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น ช่อใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แผ่แบน แตกแขนงออกเป็นช่อใบย่อยข้างละ 7-23 ช่อ ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ใบย่อยมีลักษณะพับเป็นจีบคล้ายรูปตัววี แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหยักเว้า ปลายใบแหลมคล้ายหางปลา โคนใบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบเป็นสีเขียวเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มักติดกันและมีขนาดใหญ่ ปลายใบหยักไม่สม่ำเสมอ โคนใบเป็นรูปลิ่มเยื้อง ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีกาบใบโอบรอบลำต้นยาวประมาณ 0.5-2 เมตร โคนกาบใบมีขนสีน้ำตาลแดงปนเทาหรือสีดำ และมีรยางค์สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม

ใบเต่าร้างแดง
  • ดอกเต่าร้างแดง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน โดยจะออกดอกเป็นช่อเชิงลดไม่มีก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร ก้านช่อดอกอวบ ห่อหุ้มไปด้วยกาบสีเขียวขนาดใหญ่ ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด ต่อมาจะออกตามซอกใบ แล้วไล่ลงมาถึงโคนต้น ช่อดอกมีลักษณะย่อยห้อยลงมา ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดอก เรียงเวียนสลับกับแกนช่อดอกย่อย โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีเขียวอ่อนไม่มีก้าน ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงขอบขนาน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกแข็งมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้ง ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 3 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร
รูปเต่าร้างแดง

ดอกเต่าร้างแดง

ช่อดอกเต่าร้างแดง

รูปดอกเต่าร้างแดง
  • ผลเต่าร้างแดง ผลเป็นสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว สีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร เนื้อผลชุ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง ซึ่งเป็นพิษและทำให้ระคายเคือง ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มถึงสีม่วงคล้ำหรือดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
ลูกเต่าร้างแดง

ผลเต่าร้างแดง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของเต่าร้างแดง คลิกที่นี่

เอกสารอ้างอิง
  1. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [19 ก.ย. 2015].
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [19 ก.ย. 2015].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [19 ก.ย. 2015].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [19 ก.ย. 2015].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เต่าร้างแดง, เต่าร้าง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [19 ก.ย. 2015].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [19 ก.ย. 2015].
  7. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [19 ก.ย. 2015].
  8. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [19 ก.ย. 2015].
  9. สมุนไพรดอทคอม.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.samunpri.com.  [19 ก.ย. 2015].
  10. พิพิธภัณฑ์เสมือนเส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพญา, ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : lumphaya.stkc.go.th.  [19 ก.ย. 2015].
  11. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th.  [19 ก.ย. 2015].
  12. medthai.com. “23 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเต่าร้างแดง ! (เต่าร้าง)”. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/เต่าร้างแดง/ [12/04/2019]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น