ชื่อสามัญ Jackfruit, Jakfruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam.
จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
ผลไม้ขนุน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า
ขะนู (จันทบุรี), นะยวยซะ
(กาญจนบุรี), เนน (นครราชสีมา), ซีคึย
ปะหน่อย หมากกลาง (แม่ฮ่องสอน), นากอ (ปัตตานี), มะหนุน (ภาคเหนือ ภาคใต้), ลาน ล้าง (ภาคเหนือ),
หมักหมี้ (ตะวันอองเฉียงเหนือ) และชื่ออื่น ๆ เช่น ขะเนอ, ขนู,นากอ, มะยวยซะ,
Jack fruit tree เป็นต้น
ลักษณะของขนุน
- ต้นขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร กิ่งและลำต้นเมื่อมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ลักษณะของใบขนุน เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปรี ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ใบหนา ผิวด้านบนของใบจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างจะสากมือ ใบขนุนกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
- ดอกขนุน ออกเป็นช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน เป็นช่อสีเขียว อัดกันแน่นและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ซึ่งเราจะเรียกว่า "ส่า" ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และลำต้น เมื่อติดผลดอกทั้งช่อจะเจริญร่วมกันเป็นผลรวมมีขนาดใหญ่ โดย 1 ดอกจะกลายเป็น 1 ยวง
- ผลขนุน หรือ ลูกขนุน ลักษณะภายนอกจะคล้าย ๆ จำปาดะ (ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกัน) โดยลักษณะของลูกขนุน ในผลดิบเปลือกมีสีขาว หนามทู่ ถ้ากรีดจะมียางเหนียว ถ้าแก่เปลือกจะมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองและหนามจะป้านขึ้นด้วย ภายในผลของขนุนจะมีซังขนุนหุ้มยวงสีเหลืองไว้ เมล็ดจะอยู่ในยวง โดยดอกขนุนจะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม และในช่วงธันวาคม-มกราคม
พันธุ์ขนุน มีอยู่หลายสายพันธุ์
ซึ่งสีของเนื้อก็แตกต่างกันออกไปด้วยตามแต่ละสายพันธุ์
ขนุนบางสายพันธุ์มีรสหวานใช้รับประทานได้ แต่บางพันธุ์มีรสจืดไม่นิยมนำมารับประทาน
โดยสายพันธุ์ขนุนที่นิยมปลูกในประเทศไทยก็ได้แก่ พันธุ์ตาบ๊วย (ผลใหญ่ เนื้อหนา
สีจำปาออกเหลือง), พันธุ์ทองสุดใจ
(ผลใหญ่ยาว เนื้อเหลือง), พันธุ์ฟ้าถล่ม
(ผลค่อนข้างกลมและใหญ่มาก มีเนื้อสีเหลืองทอง), พันธุ์จำปากรอบ
(ผลขนาดกลาง รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อสีเหลือง) เป็นต้น
ต้นขนุนจัด เป็น 1 ใน 9
ไม้มงคลของไทย ไม้ขนุนมีความหมายว่า การช่วยหนุนบารมี เงินทอง ความร่ำรวย
ให้ดียิ่งขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุนจุนเจือ
โดยนิยมปลูกไว้หลังบ้านด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
นอกจากขนุนจะเป็นไม้มงคลนามแล้ว
ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อยอีกด้วย
และยังนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู
แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนุนหรือรับประทานแต่น้อยเพราะมีรสหวาน
นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ
ได้แก่ ใบ ยวง เมล็ด แก่น ส่าแห้งของขนุน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของขนุน คลิกที่นี่
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี (EN), หนังสือเภสัชกรรมไทยร่วมอนุรักษ์มรดกไทย
(วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน
(เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น