มะนาวผี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Atalantia monophylla DC.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Atalantia monophylla DC.
(ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Trichilia spinosa
Willd.)
จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
สมุนไพรมะนาวผี
มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะลิว (เชียงใหม่), กรูดเปรย (จันทบุรี), นางกาน
(ขอนแก่น), กรูดผี (สุราษฎร์ธานี), ขี้ติ้ว
จ๊าลิ้ว (ภาคเหนือ), กะนางพลี[1] กะนาวพลี[3] มะนาวพลี[2]
(ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของมะนาวผี
- ต้นมะนาวผี มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 2-3 เมตร และอาจมีความสูงของต้นได้ถึง 6 เมตร ลักษณะของลำต้นและกิ่งค่อนข้างเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นตื้น ๆ ตามยาวของลำต้น มีหนามยาวหนึ่งอันตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค บ้างว่าพบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยจะพบได้ตามป่าชายหาก ชายฝั่ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง บนเขาหิน ที่ระดับความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 800 เมตร
- ใบมะนาวผี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบป้านเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.8-8 เซนติเมตร แผ่นใบแผ่เรียบ หนาคล้ายแผ่นหนังและเป็นมัน ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนกระจายตามเส้นกลางใบ มีเส้นข้างใบประมาณ 5-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปแบบร่างแห ชัดเจนทางด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร
- ดอกมะนาวผี ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกและก้านดอกเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด ก้านดอกยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร มีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงง่าย ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขน กลีบเลี้ยงไม่สมมาตร แยกออกถึงฐานเพียงหนึ่งด้าน และมักมี 2 แฉก ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกลี้ยงถึงมีขนละเอียด ดอกมีกลีบดอก 4-5 กลีบ แยกออกจากกันอย่างอิสระ กลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร เกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 หรือ 10 ก้าน ยาวไม่เท่ากัน สลับกันระหว่างสั้นกับยาว ที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เกลี้ยง อับเรณู รังไข ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มี 3-4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1-2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่ากับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียมี 3-4 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปวงแหวน มีพู 8-10 พู ไม่ชัดเจน
- ผลมะนาวผี ผลมีลักษณะกลมหรือรี เป็นผลขนาดเล็ก ผิวผลเรียบเป็นสีเขียวอ่อนหรือเทา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลหนาคล้ายหนังและมีต่อมน้ำมันเป็นจุดหนาแน่น ที่ปลายผลมีก้านเกสรเพศเมีย ติดทน ผลภายในเป็นกลีบคล้ายผลส้ม ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีสีขาว โดยจะออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน
แหล่งอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรไทย
เล่ม 1. “มะนาวผี (Manao
Phi)”. (ดร.นิจศิริ
เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 225.
2.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะนาวผี”.
(พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า
156.
3.ฐานข้อมูลสมุนไพร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
“มะนาวผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 พ.ค. 2014].
4.สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
“มะนาวผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.
[16 พ.ค. 2014].
5.ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะนาวผี”.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [16 พ.ค. 2014].
6.
Medthai.com “มะนาวผี สรรพคุณและประโยชน์ของมะนาว ” [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/มะนาวผี/ [18/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น