ชื่อสามัญ Bushwillows,
Combretums
ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum
quadrangulare Kurz
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Combretum
attenuatum Wall.
จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
สมุนไพรสะแกนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขอนแข้
ขอนแด่ จองแข้ (แพร่), แก (อุบลราชธานี), แพ่ง (ภาคเหนือ), แก (ภาคอีสาน), สะแก (ภาคกลาง), ซังแก (เขมร-ปราจีนบุรี) เป็นต้น
ลักษณะของสะแกนา
- ต้นสะแกนา
จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15-20
เมตร) เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่าง ๆ
ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ๆ ต้นสะแกนาที่มีอายุมากบริเวณโคนต้นจะพบหนามแหลมยาวและแข็ง
หรือเป็นกิ่งที่แปรสภาพไปเป็นหนามสั้นตามโคนต้น เนื้อใบหนาเป็นมัน ใบมีสีเขียวสด
ผิวใบทั้งสองด้านมีเกล็ดสีเงินอยู่หนาแน่น ผิวใบด้านบนสากมือ ก้านใบสั้น
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ที่ขึ้นได้ในทุกชนิด
แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ชุ่มชื้น และควรปลูกในช่วงฤดูฝน มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน พบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป
ป่าเต็งรัง หรือริมธารน้ำชายป่า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 250 เมตร
- ใบสะแกนา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ โคนใบสอบแคบไปยังก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร
- ดอกสะแกนา ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ในช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงที่โคนที่เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
- ผลสะแกนา ผลเป็นผลแห้ง ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีครีบ 4 ครีบ สีน้ำตาลอมขาว ผลเมื่อแก่หรือสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลแดง 2เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกระสวย มีสัน 4 สัน ตามยาว
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของสะแกนา คลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สะแกนา (Sakae Na)”. หน้า 291.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สะแกนา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 178.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สะแกนา”. หน้า 90.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะแกนา”. หน้า 761-762.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สะแกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [09 มิ.ย. 2014].
- สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะแก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [09 มิ.ย. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. “สะแกนา”.
- วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ. “สะแกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chumphae.ac.th. [09 มิ.ย. 2014].
- สมุนไพร, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “สะแกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [09 มิ.ย. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับของสะแกนา”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [09 มิ.ย. 2014].
- medthai.com. “สะแก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะแกนา 27 ข้อ !”. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/สะแกนา/ [13/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น