หน้าเว็บ

ต้นเติม

เติม หรือ ประดู่ส้ม ชื่อสามัญ Java cedar

เติม ชื่อวิทยาศาสตร์ Bischofia javanica Blume จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (ฺPHYLLANTHACEAE)
ต้นเติม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดู่ส้ม (กาญจนบุรี, นครราชสีมา), ดู่น้ำ ประดู่ส้ม (ชุมพร), ประส้มใบเปรี้ยว ประดู่ใบเปรี้ยว (อุบลราชธานี), ยายตุหงัน(เลย), กระดังงาดง (สุโขทัย), จันบือ (พังงา), ส้มกบ ส้มกบใหญ่ (ตรัง), กุติกุตีกรองหยัน กรองประหยัน ขมฝาด จันตะเบือ ย่าตุหงัน (ยะลา), ยายหงัน(ปัตตานี), ไม้เติม (คนเมือง), ซะเต่ย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ซาเตอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ชอชวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ด่งเก้า (ม้ง), เดี๋ยงซุย (เมี่ยน), ไม้เติม ลำผาด ลำป้วย (ลั้วะ), ด่อกะเติ้ม (ปะหล่อง), ละล่ะทึม (ขมุ), ชิวเฟิงมู่ ฉง หยางมู่ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของต้นเติม

  • ต้นเติม หรือ ต้นประดู่ส้ม มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือริมลำห้วยที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,000 เมตร ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร และอาจสูงได้ถึง 35 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดค่อนข้างทึบ กิ่งมักคดงอ ลำต้นมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมสีเหลือง มีกลิ่นหอม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง และจะเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอมแดง และมียางสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง


  • ใบเติม ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ก้านใบรวมยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยข้างยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านใบปลายยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักโค้งแกมฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านหลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ใบเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด

  • ดอกเติม ออกดอกเป็นช่อ แยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อดอกห้อยลง มีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นสีเหลืองอ่อนอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน (บ้างว่าอยู่กันคนละต้น) โดยดอกเพศผู้จะมีกาบลักษณะเป็นรูปหอก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันเป็นแผ่นกว้าง ก้านเกสรสั้น และไม่มีหมอนรองดอก ส่วนดอกเพศเมียมีข้อ ด้านบนหนา กลีบเลี้ยงมีลักษณะโค้งเข้าตรงกลาง ก้านเกสรเพศเมียสั้นปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉกโค้งกลับ เมื่อดอกบานจะบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก และดอกจะร่วงโรยทั้งต้นในวันรุ่งขึ้น โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม

  • ผลเติม ออกผลเป็นช่อ ๆ ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองหรือเป็นสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-4 เมล็ด และมีเนื้อหุ้มอยู่ โดยผลจะแก่จัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ข้อมูลเพิ่มเติมประโชยน์และสรรพคุณของต้นเติม คลิกที่นี้

แหล่งอ้างอิง

1.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เติม Java Cedar”.  หน้า 48.

2.ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “เติม”.  อ้างอิงใน: หนังสือไม้ต้นในสวนพฤกษศาสตร์และ พืชสมุนไพร เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [17 มี.ค. 2014].

3.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูงสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  Java cedar”.  อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช)หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1 (สุธรรม อารีกุลจำรัส อินทรสุวรรณ ทาเขียวอ่องเต็ง นันทแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 มี.ค. 2014].

4.Digital Library.  “ประดู่ส้ม ผลกินได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: http://www.school.net.th/library/new/index.htm.  [17 มี.ค. 2014].

5.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ประดู่ส้ม”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).

6. https://medthai.com/เติม    ประโยนชน์และสรรพคุณ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/เติม    [16/04/2019]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น