หน้าเว็บ

สะเดา



สะเดา
 

ชื่อสามัญ Neem, Neem tree, Nim, Margosa, Quinine, Holy tree, Indian margosa tree, Pride of china, Siamese neem tree

สะเดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.Juss. 
(ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica var. siamensis Valeton, Melia azadirachta L.) วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)


สมุนไพรสะเดา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง)สะเลียม (ภาคเหนือ)เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้)จะดัง จะตัง (ส่วย)ผักสะเลม (ไทลื้อ)ลำต๋าว (ลั้วะ)สะเรียม (ขมุ)ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง)ควินิน (ทั่วไป)สะเดาอินเดีย (กรุงเทพฯ)กาเดาเดาไม้เดา เป็นต้น โดยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าแล้งในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยจะมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติ ตามป่าเบญจพรรณแล้งและป่าแดงทั่วประเทศ

ชนิดของสะเดา

สะเดา สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

สะเดาไทย (สะเดาบ้าน) ลักษณะของใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม โดยสะเดาไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดขมและชนิดมัน โดยจะสังเกตได้จากยอดอ่อน หากเป็นชนิดขมยอดอ่อนจะมีสีแดง แต่ถ้าเป็นชนิดมันยอดอ่อนจะมีสีขาว

สะเดาอินเดีย ลักษณะของใบ ขอบใบเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยแหลม ปลายใบมีลักษณะแหลมเรียวแคบมาก ส่วนโคนใบเบี้ยว[7]

สะเดาช้าง (สะเดาเทียม) (Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs) ชนิดนี้ลักษณะขอบใบจะเรียบหรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขนาดของใบและผลจะใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก

โดยต้นสะเดาไทยและสะเดาอินเดียจะเป็นชนิดเดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์ ส่วนสะเดาช้างจะจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับสะเดาไทยและสะเดาอินเดีย แต่เป็นคนละชนิดหรือคนละสปีชีส์

ลักษณะของสะเดา




  • ต้นสะเดา เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบตลอดปี มีรากที่แข็งแรง กว้างขวาง และหยั่งลึก เปลือกของลำต้นค่อนข้างหนา มีสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาปนดำ ผิวเปลือกแตกเป็นร่องตื้น ๆ หรือเป็นสะเก็ดยาว ๆ เยื้องสลับกันไปตามความยาวของละต้น ส่วนเปลือกของกิ่งมีลักษณะค่อนข้างเรียบ และเนื้อไม้มีสีแดงเข้มปนสีน้ำตาล เสี้ยนค่อนข้างสับสนเป็นริ้ว ๆ แคบ เนื้อหยาบ เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนแกนไม้มีสีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรงและทนทานมาก




  • ใบสะเดา ใบมีสีเขียวเข้มหนาทึบ เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ใบย่อยติดตรงข้ามหรือกิ่งตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง กว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยวเห็นชัดเจน ส่วนปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ค่อนข้างเกลี้ยง มีเส้นใบอยู่ประมาณ 15 คู่ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ใบที่อยู่ปลายช่อจะใหญ่สุด ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผิวก้านค่อนข้างเกลี้ยง มีต่อม 1 คู่ที่โคนก้านใบ[4] ในพื้นที่แล้งจัด ต้นจะทิ้งใบเฉพาะส่วนล่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และใบใหม่จะผลิขึ้นมาในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งช่วงนี้ต้นสะเดาจะแทงยอดอ่อนพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว





  • ดอกสะเดา ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นเช่นกัน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเป็นพู 5 พูกลม พูซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบแยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ท่อเกสรตัวผู้เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีสัน 10 สัน ขอบบนเป็นพูกลม 10 พู มีอับเรณู 10 อัน ยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีแคบ ส่วนรังไข่เกลี้ยงหรือมีขนนุ่มสั้น มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม (ในช่อดอกมีสารจำพวกไกลโคไซด์ Nimbasterin 0.005% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Nimbecetin, Nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม



  • ผลสะเดา ลักษณะของผลจะคล้ายผลองุ่น ผลมีลักษณะกลมรี ขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว มีรสหวานเล็กน้อย ผลจะสุกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสุกเร็วกว่าภาคกลาง เป็นต้น (ผลมีสารขมที่ชื่อว่า Bakayanin)


เมล็ดสะเดา เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาวสีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล ในน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 4,000 เมล็ด ซึ่งในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45%[1] (ในเมล็ดมีน้ำมันขม Margosic acid 45%หรือเรียกว่า Nim oil และมีสารขม Nimbin)


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณและประโยชน์ของสะเดาคลิกที่นี้

แหล่งอ้างอิง

1.ประโยนชน์และสรรพคุณ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  "สะเดา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [14 พ.ย. 2013].

2.สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  "สะเดา (สะเดาไทย)".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [14 พ.ย. 2013].

3.หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).

4.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  "Siamese neem tree".  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 7.  (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [14 พ.ย. 2013].

5.KU eMagazine มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  "สะเดามากคุณค่า เกินคาดเดา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine.  [14 พ.ย. 2013].

6.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน).  "สะเดาไทย พืชสารพัดประโยชน์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.aopdh06.doae.go.th.  [14 พ.ย. 2013].

7.กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  "ชนิดของสะเดา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th.  [14 พ.ย. 2013].

8.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [14 พ.ย. 2013].

9.นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  "ผักพื้นบ้าน สะเดา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th.  [14 พ.ย. 2013].

10. https://medthai.com/สะเดา    ประโยนชน์และสรรพคุณ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/สะเดา    [16/04/2019]  





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น