ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros ehretioides
Wall. ex G. Don
จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)
สมุนไพรตับเต่าต้น มีชื่อตามท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตับเต่า (คนเมือง), มะไฟผี (เชียงราย), มะโกป่า (แพร่), ชิ้นกวาง, เรื้อนกวาง, ลิ้นกวาง
(ปราจีนบุรี), ตับเต่าหลวง มะพลับดง (ราชบุรี), มะมัง (นครราชสีมา), ตับเต่าใหญ่ (ชัยภูมิ), เฮื้อนกวาง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ),
กากะเลา มาเมี้ยง แฮดกวาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ลักษณะของต้นตับเต่า
- ต้นตับเต่าต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาอมขาว ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในพม่าและภูมิภาคอินโดจีน (ลาวและกัมพูชา) ส่วนในประเทศไทยพบได้แทบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรังและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-500 เมตร
- ใบตับเต่าต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กว้าง หรือรูปไข่ถึงรูปวงรี ปลายใบกลมหรือมน โคนใบกลมหรือคล้ายรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-28 เซนติเมตร เนื้อใบเกลี้ยงและหนา ผิวใบด้านล่างมีขนหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-12 คู่ เห็นเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนสั้นนุ่ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง
- ดอกตับเต่าต้น ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่กันคนละต้น
ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามกิ่งเหนือง่ามใบ
ช่อหนึ่งมักมีดอกประมาณ 3 ดอก
กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ
กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปคนโท ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร
ปลายแฉกลึกประมาณ 1/3 ส่วน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ
0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบแฉกลึกประมาณ 1/3 มีขนด้านนอก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย เกสรเพศผู้มีประมาณ 20-30 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญมีขนยาว ก้านดอกยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร
ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ช่อละ 3-5 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ
มีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า กลีบเลี้ยงแฉกลึกเกือบจรดโคน
รังไข่ทรงรี มีขนคล้ายขนแกะ มี 6 ช่อง
ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปคนโท ด้านนอกมีขน
ส่วนด้านในเรียบ ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
- ผลตับเต่าต้น ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปกลมป้อม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดคงทน มีขนด้านดอก ปลายกลีบแฉกเกินกึ่งหนึ่งเกือบจรดโคน กลีบพับงอเล็กน้อย มีก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เอนโดสเปิร์มมีลาย เมื่อแก่แห้งเป็นสีดำและไม่แตก ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงกันยายน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของต้นตับเต่าตัน คลิกที่นี่
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).“ตับเต่าต้น”. หน้า 92.
- สำนักงานหอพรรณไม้
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตับเต่าต้น”.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [20 ธ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง,สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตับเต่าต้น”.
อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
[20 ธ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
“ตับเต่าต้น”. อ้างอิงใน :
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [20 ธ.ค. 2014].
- สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย. “ตับเต่าทั้งสอง”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com. [20 ธ.ค.2014].
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตับเต่าต้น”.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [20
ธ.ค. 2014].
- พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ตับเต่าต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/ตับเต่าต้น.pdff. [20 ธ.ค. 2014].
- medthai.com. “ตับเต่าต้น สรรพคุณและประโยชน์ของตับเต่าต้น 16 ข้อ !”. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ตับเต่าต้น/ [09/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น