หน้าเว็บ

เสลดพังพอนตัวเมีย


เสลดพังพอนตัวเมีย
เสลดพังพอนตัวเมีย


ชื่อสามัญ Snake Plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clinacanthus burmanni Nees, Clinacanthus siamensis Bremek., Justicia nutans Burm. f.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ  ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่), พญาปล้องคำ (ลำปาง), เสลดพังพอนตัวเมีย (พิษณุโลก), พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), ลิ้นงูเห่า พญายอ (ทั่วไป), โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น

 ลักษณะของเสลดพังพอนตัวเมีย
  • ต้นเสลดพังพอนตัวเมีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไปต้นเสลดพังพอนตัวเมีย
  • ใบเสลดพังพอนตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบใบเสลดพังพอนตัวเมีย
  • ดอกเสลดพังพอนตัวเมีย ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)ดอกเสลดพังพอนตัวเมีย
  • ผลเสลดพังพอนตัวเมีย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด


หมายเหตุ : เสลดพังพอน เป็นชื่อพ้องของพรรณไม้ 2 ชนิด คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่เสลดพังพอนตัวผู้ลำต้นจะมีหนามและมีดอกเป็นสีเหลือง ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียลำต้นจะไม่มีหนามและมีดอกเป็นสีแดงส้ม เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนหลาย ๆ ตำราจึงนิยมเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า "พญายอ" หรือ "พญาปล้องทอง" โดยเสลดพังพอนตัวผู้นั้นจะมีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย และตำรายาไทยนิยมนำมาใช้ทำยากันมาก


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นเสลดพังพอน คลิกที่นี่



เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พญาปล้องทอง”.  หน้า 521-522.
2.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พญาปล้องทอง”.  หน้า 88.
3.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  หน้า 562.
4.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [11 ก.ย. 2015].
5.ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [11 ก.ย. 2015].
6.สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๐, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่).  “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.oocities.org/thaimedicinecm/.  [11 ก.ย. 2015].
7.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พญาปล้องทอง, เสลดพังพอนตัวเมีย”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [11 ก.ย. 2015].
8.สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พญาปล้องทอง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [11 ก.ย. 2015].
9.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “พญายอ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [11 ก.ย. 2015].
10. medthai.com. “เสลดพังพอนตัวเมีย สรรพคุณของต้นเสลดพังพอนตัวเมีย 35 ข้อ ! “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/เสลดพังพอนตัวเมีย/ [19/04/2019]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, Ahmad Fuad Morad, Tai Lung Aik, Qing-long Wang, Lão Hc)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น