หน้าเว็บ

เขยตาย


ชื่อสามัญ            เขยตาย

ชื่อท้องถิ่น          เขยตายแม่ยายชักปรก ลูกเขยตาย ต้นชมชื่น ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ หญ้ายาง น้ำเข้า โรคน้ำเข้า (ใต้) กะรอกน้ำข้าว ละรอก กะรอกน้ำ(ชลบุรี) ส้มชื่น ศรีชมชื่น น้ำข้าวต้น พิษนาคราช พุทธรักษา(สุโขทัย) ประยงค์ใหญ่ (กรุงเทพฯ) มันหมู (ประจวบคีรีขันธ์)

ชื่อวิทยาศาสตร์   Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.

ชื่อพ้อง                Bursera nitida Fern.-Vill., Chionotria monogyna Walp., C. rigida Jack, Glycosmis arborea (Roxb.) DC., G. chylocarpa Wight & Arn., G. madagascariensis Corrêa ex Risso, G. quinquefolia Griff. , G. retzii M.Roem., G. rigida (Jack) Merr., Limonia arborea Roxb., L. pentaphylla Retz., Myxospermum chylocarpum (Wight & Arn.) M. Roem.

ชื่อวงศ์                  Rutaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น ต้นเขยตาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้นเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว ใบออกดกทึบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน สุมาตราและชวา ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน


  • ใบเขยตาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับตรงข้ามหรือกึ่งตรงข้าม มีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมถึงกลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบหรือมีรอยจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ผิวใบทั้งสองด้านมีจุดต่อม หลังใบเรียบลื่นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า ใบด้านบน ๆ จะมีสีแดงที่ฐาน

  • ดอกเขยตาย ออกดอกเป็นช่อเชิงลดแยกแขนงหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 12-15 ดอก ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว มีกลิ่นหอม โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีขาว มี 5 กลีบ ขนาด 4-5 x 2-2.5 มิลลิเมตร เรียงซ้อนกันเป็นวง ผิวมีต่อมจุด รูปไข่กลับ ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร รูปแหลมกึ่งรูปไข่ มีขนอ่อนที่ส่วนปลาย มีใบประดับหุ้ม โดยชั้นบนจะมี 5 กลีบใหญ่ และมีส่วนย่อยเล็ก ๆ หลายอัน มีต่อมซึ่งเป็นร่อง ส่วนก้านชูดอกสั้นมาก เกสรเพศเมียออกเรียงเป็นวง ตรงกลางแกนดอกมีเกสรเพศผู้เป็นแท่ง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร เป็นรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน


  • ผลเขยตาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.18 เซนติเมตร ปลายผลแหลม ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูใส ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม เป็นลาย ติดผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคม
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณของเขยตาย  คลิกที่นี่
แหล่งอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เขยตาย (Khoei Tai)”.  หน้า 69.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เขยตาย”.  หน้า 98.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เขยตาย”.  หน้า 152-153.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เขยตาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [27 ม.ค. 2015].
  5. อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 28 ประจำเดือน มีนาคม 2548.  (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร).  “เก็บป่ามาฝากเมือง”.  หน้า 2.
  6. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  7. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “เขยตาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [27 ม.ค. 2015].
  8. พันธุ์ไม้สวนพืชอาหารแมลง, ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1.  “ชื่อพืชอาหารต้นส้มชื่น (เขยตาย)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/FOREMIC/.  [27 ม.ค. 2015].
  9. จำรัส เซ็นนิล.  “เขยตายแม่ยายปรก "สมุนไพรถอนพิษ เริม-งูสวัด-ไฟลามทุ่ง-ขยุ้มตีนหมา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.jamrat.net.  [27 ม.ค. 2015].


ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ross Bayton, Dinesh Valke, Siddarth Machado, andreas lambrianides, Ahmad Fuad Morad)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น