หน้าเว็บ

ฝาง


ฝาง
ฝาง
ชื่อสามัญ Sappan หรือ Sappan tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biancaea sappan (L.) Tod.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขวาง, ฝางแดง, หนามโค้ง (แพร่), ฝางส้ม (กาญจนบุรี), ฝางเสน (ทั่วไป, กรุงเทพฯ, ภาคกลาง), ง้าย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลำฝาง (ลั้วะ), สะมั่วะ (เมี่ยน), โซปั้ก (จีน), ซูมู่ ซูฟังมู่ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นฝาง


  • ต้นฝาง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถาผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีแดงเข้มและมีรสขมหวานจะเรียกว่า "ฝางเสน" แต่ถ้าแก่นไม้เป็นสีเหลืองส้มและมีรสฝาดขื่นจะเรียกว่า "ฝางส้ม" พรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน
ต้นฝาง

  • ใบฝาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แก่นช่อใบยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีช่อใบย่อยประมาณ 8-15 คู่ และในแต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 5-18 คู่ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบย่อยกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ และมีหูใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย
ใบฝาง

  • ดอกฝาง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และจะออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลมและมีขน ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเกลี้ยงที่ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน โดยกลีบเลี้ยงล่างสุดจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้ามากกว่ากลีบอื่น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น โดยกลีบกลางจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน แยกจากกันเป็นอิสระ ส่วนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มีช่อง 1 ช่องและมีออวุล 3-6 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ดอกฝาง

  • ผลฝาง ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลม เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร และส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย และด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ผลฝาง


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นฝาง คลิกที่นี่



เอกสารอ้างอิง
1.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 เม.ย. 2014].
2.ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [29 เม.ย. 2014].
3.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ฝาง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 113.
4.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ฝาง Sappan Tree”.  หน้า 69.
5.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  ฝาง (Fang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 184.
6.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  ฝาง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 516-517.
7.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ฝาง”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 362.
8.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  Sappan tree, Indain red, Brazilwood”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่มที่ 13 ว่าด้วยสมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส (สมพร หิรัญรามเดช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 เม.ย. 2014].
9.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [29 เม.ย. 2014].
10.โรงเรียนบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก.  “น้ำสมุนไพรฝาง เพื่อสุขภาพ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/sumkheelek/. [29 เม.ย. 2014].
11.งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29.  ฝางเสน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/.  [29 เม.ย. 2014].
12.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังวิเศษ.  “ภูมิปัญญาชาวบ้าน เทคนิคการทำให้ขนุนออกดอกตรงตำแหน่งที่เราต้องการ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: trang.nfe.go.th/nfe14/.  [29 เม.ย. 2014].
13.นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557.  (มีคณา).
14.ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [29 เม.ย. 2014].
15.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์กันเสียของฝาง (Caesalpinia sappan L.) ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทน้ำพริก”.  (นฤพร สุทธิสวัสดิ์, ศุทธินี ธไนศวรรยางกูร).
16.กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “ฝางเสน สร้างเลือด สร้างภูมิ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [29 เม.ย. 2014].
17.มูลนิธิสุขภาพไทย.  “แก้ไอเจ็บคอด้วยฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [29 เม.ย. 2014].
18.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สรรพคุณและพิษของฝางแดง ม้ากระทืบโรง กำแพงเจ็ดชั้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [29 เม.ย. 2014].
19.ไทยโพสต์.  “เครื่องดื่มฝางใครรู้จักบ้างยกมือขึ้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [29 เม.ย. 2014].
20. medthai.com. “ฝาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝาง 49 ข้อ ! “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ฝาง/ [15/04/2019]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, Mike Bush, Foggy Forest, SingWay), www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.hinsorn.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น