ราชพฤกษ์
ชื่อสามัญ: Golden shower, Indian
laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia fistula
L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรราชพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : กุเพยะ
(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่
(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (กะเหรี่ยง),
ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง
(ภาคเหนือ), ราชพฤกษ์ (ภาคใต้), คูน (ทั่วไปเรียกและมักจะเขียนผิดหรือสะกดผิดเป็น "ต้นคูณ"
หรือ "คูณ") เป็นต้น
คำว่า "ราชพฤกษ์"
มีความหมายว่า "ต้นไม้ของพระราชา" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ
60 ปี
ต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติไทย
เมื่อปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มีข้อเสนอและสรุปให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ
3 สิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม
ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า ให้สัตว์ประจำชาติคือ "ช้างไทย"
ส่วนในด้านสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ "ศาลาไทย"
และในส่วนของดอกไม้ประจำชาติก็คือ "ดอกราชพฤกษ์" โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกดังนี้
ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ จัดเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย
(ตามประกาศของกรมป่าไม้)
ต้นไม้ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในนามของ "ต้นคูน"
สามารถพบเห็นได้ทั่วไปของทุกภาคในประเทศ
ต้นราชพฤกษ์มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีชาวไทยมาอย่างช้านาน
เพราะเป็นไม้มงคลนามและใช้ในการประกอบพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ หลายพิธี เช่น
พิธีลงเสาหลักเมือง ทำคทาจอมพล ใช้ทำยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น
ต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
เช่น การใช้เป็นยาสมุนไพรหรือนำมาใช้ทำเป็นเสาบ้านเสาเรือนได้ ฯลฯ
ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและแข็งแรงทนทาน
ต้นราชพฤกษ์มีรูปทรงและพุ่มที่งดงาม
มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น แลดูสวยงามยิ่งนัก
ดอกราชพฤกษ์มีสีเหลือง
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา
และยังเป็นสัญลักษณ์ของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ตามตำราไม้มงคล 9 ชนิดยังระบุไว้ว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นใหญ่
ความมีอำนาจวาสนา มีโชคมีชัย
สมุนไพรราชพฤกษ์ กับการนำมาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ
โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยานั้น ได้แก่ ส่วนของใบ ดอก เปลือก ฝัก แก่น
กระพี้ ราก และเมล็ด ซึ่งสมุนไพรราชพฤกษ์ เป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก
สตรี รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
ลักษณะของต้นราชพฤกษ์
ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน)
เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้
ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย พม่า และประเทศศรีลังกา
โดยจัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยง
มักขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบหรือในดินที่มีการถ่ายเทน้ำดี
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้ามาปลูกในถุงเพาะชำ
เมื่อโตพอแล้วก็ย้ายมาปลูกในพื้นที่ แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้วิธีการทาบกิ่งและเสียบยอดก็ได้
แต่โอกาสสำเร็จจะน้อยกว่าวิธีการเพาะเมล็ด
ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน)
ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5
เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร
และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ
เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตามรูปใบ
ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน)
ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร
มีกลีบรองดอกรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย
และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า
และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ
บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10
ก้าน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น
ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ
ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ ติดกันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก
และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นราชพฤกษ์ คลิกที่นี่
แหล่งข้อมูล :
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, เว็บไซต์ไทยโพส, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
medthai.com."ราชพฤกษ์
สรรพคุณและประโยชน์ของราชพฤกษ์ 44 ข้อ ! (ต้นคูน)".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ราชพฤกษ์ [14/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น