ชื่อสามัญ Sea holly, Thistleplike plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus
ebracteatus Vahl
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acanthus ilicifolius
Lour., Acanthus ilicifolius var. ebracteatus (Vahl) Benoist, Dilivaria
ebracteata (Vahl) Pers.
จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรเหงือกปลาหมอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า
แก้มหมอ (สตูล), แก้มหมอเล (กระบี่), อีเกร็ง
(ภาคกลาง), นางเกร็ง จะเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน เป็นต้น
เหงือกปลาหมอมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ
พันธุ์ที่เป็นดอกสีม่วง (Acanthus ilicifolius L.) ที่พบได้มากทางภาคใต้
และพันธุ์ที่เป็นดอกสีขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) ที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก
และเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ
เหงือกปลาหมอ
สมุนไพรใกล้ตัวหรืออาจจะเรียกว่าเป็นสมุนไพรชายน้ำหรือชายเลนก็ได้
สามารถนำสรรพคุณทางยามาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด
ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย
และการนำมาใช้รักษาริดสีดวงทวาร เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่
ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด และทั้งต้น (ส่วนทั้ง 5
ประกอบไปด้วย ต้น ราก ใบ ผล เมล็ด)
ลักษณะของเหงือกปลาหมอ
- ต้นเหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็ง มีหนามอยู่ตามข้อของลำต้น ข้อละ 4 หนาม ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง มีสีขาวอมเขียว ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มและในที่ที่มีความชื้นสูง ชอบขึ้นตามชายน้ำหรือบริเวณริมฝั่งคลองบริเวณปากแม่น้ำ เช่น บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือปากคลองมหาวงก์ และที่โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น
- ใบเหงือกปลาหมอ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบมีหนามคมอยู่ริมขอบใบและปลายใบ ขอบใบเว้าเป็นระยะ ๆ ผิวใบเรียบเป็นมันลื่น แผ่นใบสีเขียว เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา เนื้อใบแข็งและเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ก้านใบสั้น
- ดอกเหงือกปลาหมอ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกมีทั้งพันธุ์ดอกสีม่วง (หรือสีฟ้า) และพันธุ์ดอกสีขาว ที่ดอกมีกลีบรองดอกมี 4 กลีบ กลีบแยกจากกัน บริเวณกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่
- ผลเหงือกปลาหมอ ลักษณะของผลเป็นฝักสีน้ำตาล ลักษณะของฝักเป็นทรงกระบอก รูปไข่ หรือกลมรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ข้างในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของเหงือกปลาหมอ คลิกที่นี่
แหล่งอ้างอิง :
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลสมุนไพร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
(ชำนาญ หิมะคุณ), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
เล่ม 4, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การส่วนพฤกษศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือยอดสมุนไพรยาอายุวัฒนะ
(อาจารย์ยุวดี จอมพิทักษ์), หนังสือกายบริหารแกว่งแขน
(โชคชัย ปัญจทรัพย์)และเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น