หน้าเว็บ

สำโรง


สำโรง
สำโรง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Bastard poon, Pinari ,Sterculia foetida L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clompanus foetida (L.) Kuntze, Sterculia mexicana var. guianensis Sagot)
จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำมะโฮง (เชียงใหม่), มะโรง มะโหรง (ปัตตานี), โหมโรง (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของต้นสำโรง

  • ต้นสำโรง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเปลาตรงและสูงชะลูด เรือนยอดเป็นรูไข่ถึงทรงกระบอก ทรงพุ่มโปร่งไม่ทึบ กิ่งก้านแตกแขนงในลักษณะตั้งฉากกับลำต้นและแผ่กว้างออกไปรอบ ๆ ต้น และการแตกกิ่งก้านจะออกเป็นระยะ ๆ ทำให้เห็นทรงพุ่มเป็นชั้น ๆ ดูคล้ายฉัตร และในแต่ละชั้นจะมีระยะห่างใกล้เคียงกัน และจะแตกกิ่งก้านที่ระดับความสูงตั้งแต่ 8-10 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและค่อนข้างหนาและเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทา ปรากฏร่องรอยแผลเป็นของก้านใบที่หลุดลอกรอบต้นอย่างชัดเจน และมีลักษณะเป็นเส้นใยหยาบ ๆ สีน้ำตาล ส่วนโคนต้นแก่แตกเป็นพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้หยาบและเป็นไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างเหนียว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยพบต้นสำโรงกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าโปร่งทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-600 เมตร
ต้นสำโรง

  • ใบสำโรง ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน ออกเรียงเวียนสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยง หลังใบเรียบ และท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละ 17-21 เส้น ส่วนก้านใบร่วมยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร
ใบสำโรง

  • ดอกสำโรง ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีแดงเข้ม ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีแสด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบม้วนออก และมีขนละเอียดปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะงอลงด้านล่าง และมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 12-14 อัน ก้านเกสรมีขนาดสั้นมากจนเกือบมองไม่เห็น อยู่ติดกับรังไข่ ดอกมีกลิ่นเหม็นมาก จึงไม่ควรนำมาปลูกบริเวณใกล้ที่พักอาศัย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน
รูปดอกสำโรง


  • ผลสำโรง ขั้วผลติดกันเป็นกระจุก 4-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไต ปลายผลมีติ่งแหลมออกเป็นพวงห้อยย้อยลงมา ผิวผลเรียบแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง หรือสีแดงปนน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 6-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร พอแห้งแล้วจะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน เปลือกผลแห้งจะแข็งเหมือนไม้และมีสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมรีสีดำ เนื้อในเมล็ดเป็นสีขาว เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยผลหนึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 12-13 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
ผลสำโรง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นสำโรง คลิกที่นี่

เอกสารอ้างอิง

1.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สำโรง (Sam Rong)”.  หน้า 303.
2.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “สำโรง”.  หน้า 183.
3.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สำโรง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [12 มิ.ย. 2014].
4.พรรณไม้บริเวณสวนสมุนไพรสาธิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สำโรง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [12 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hawaiian Ecosystems at Risk project (HEAR), Dinesh Valke, Forest and Kim Starr, Hai Le, kaydeesquared, Ahmad Fuad Morad)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น