ชื่อสามัญ: Alexandrian laurel,
Beautiful-leaf, Bornero mahogany, Indian laurel
ชื่อวิทยาศาสตร์: Calophyllum
inophyllum L. จัดอยู่ในวงศ์มังคุด(CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
สมุนไพรกระทิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ: เนาวกาน (น่าน), สารภีทะเล(ประจวบคีรีขันธ์), ทิง (กระบี่), สารภีแนน (ภาคเหนือ), นอ (ภาคอีสาน), กระทึง กากทึง กากะทิง กากระทึง (ภาคกลาง), กะทึง กาทึง ทึง (ภาคใต้), ไท่กวั๋อหงโฮ่วเขอ
หูถง (จีนกลาง) เป็นต้น
ต้นกระทิง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน
(ไทย พม่า ลาว เวียดนาม เขมร มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา) ในประเทศไทยมีต้นกระทิงอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกใบสีเขียว
(Calophyllum inophyllum Linn.) ส่วนอีกชนิดจะเป็นใบสีแดง
(Calophyllum polyanthum Wall. ex Choisy) แต่ไทยเรามักจะใช้ต้นกระทิงใบเขียวกันมากกว่า
ลักษณะของต้นกระทิง
- ต้นกระทิง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ
เรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ไม่เป็นระเบียบ ลำต้นค่อนข้างสั้นและมักบิดแตกเป็นกิ่งใหญ่
ๆ จำนวนมากทั้งแนวนอนและแนวตั้งหรือห้อยลง มีความสูงของต้นประมาณ 8-20 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงเข้ม ต้นเมื่อแก่จะแตกเป็นร่อง
ภายในมียางสีเหลืองใส ๆ เปลือกด้านในเป็นสีชมพู ส่วนแก่นไม้เป็นสีน้ำตาลอมแดง
ตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลปนสีแดงอยู่ประปราย
โดยต้นกระทิงเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด มักขึ้นตามป่าใกล้ชายทะเล ป่าดงดิบ
พบได้มากทางภาคใต้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง
ชอบดินทรายระบายน้ำได้ดี แต่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด หากได้รับน้ำมากพอใบจะเป็นมันสวยงาม
(สำหรับการตัดแต่งพันธุ์ไม้ชนิดนี้ควรระมัดระวังน้ำยางสีเหลืองจากต้นด้วย
เพราะมีความเป็นพิษ)
- ใบกระทิง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน
ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน โคนใบสอบ
ปลายใบมนกว้างและมักหยักเว้าเล็กน้อย ใบมีความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร
ใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างหนาแข็งและเกลี้ยง ขอบใบเรียบและผิวมันเคลือบ
ท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบถี่มากและขนานกัน มองเห็นไม่ชัดเจน
ส่วนเส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านหลังใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง
เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
(เปลือกของต้นมีสารแทนนินอยู่ 19%)
- ดอกกระทิง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ
ช่อละประมาณ 5-8 ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกกันอิสระ
ดอกเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ
ยาวประมาณ 2.7-10 มิลลิเมตร โดยสองกลีบนอกจะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับและงอเป็นกระพุ้ง
ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ส่วนอีกสองกลับถัดเข้าไปจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ กว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12
มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปช้อนหรือรูปไข่กลับ ขอบงอ
ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร
ลักษณะของดอกเป็นดอกตูมค่อนข้างกลมสีขาวนวล มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก
มีกลิ่นหอม เป็นแต้มสีเหลืองรอบ ๆ เกสรตัวเมียที่ชูพ้นเกสรตัวผู้
- ผลกระทิง ผลเป็นผลสดค่อนข้างกลมและฉ่ำน้ำ
ผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่และแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลสดสีเขียว
เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
เมื่อผลแห้งจะย่นและเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลปนแดงอ่อน และภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1
เมล็ด เมล็ดมีเปลือกแข็ง (เมล็ดเมื่อนำมาบีบหรือสกัดด้วยตัวทำลายอินทรีย์จะให้น้ำมันสีเหลืองอมสีเขียวประมาณ
50-70% และมีกลิ่นที่ไม่ชวนดม หรือที่เรียกว่า Dill
oil, Poppy seed oil และ Laurel oil นอกจากนี้ยังมีเรซินอีกด้วย)
แหล่งข้อมูล: หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน
ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “กระทิง”. (วิทยา
บุญวรพัฒน์). หน้าที่ 36.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.
“กระทิง (Kra Thing)”. (ดร.นิจศิริ
เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 28.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง.
“กระทิง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.ริจศิริ เรืองรังสี, อาจารย์กัญจนา
ดีวิเศษ). หน้าที่ 57.
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระทิง”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [14 ม.ค. 2014].
โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “กระทิง”.
(อารีย์ ตั้งพูนสิน). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/. [14
ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สารภีทะเล”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 ม.ค.
2014].
สำนักโรคเอดส์ วัณโรค
และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “กระทิง”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org. [14 ม.ค. 2014].
medthai.com."กระทิง
สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทิง 33 ข้อ ! (สารภีทะเล)
".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/กระทิง [12/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น