หน้าเว็บ

มะหาด


มะหาด
ต้นมะหาด

ชื่อสามัญ Monkey Jack, Monkey Fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Buch.-Ham. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus ficifolius W.T.Wang, Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus yunnanensis H.H.Hu)จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
สมุนไพรมะหาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปวกหาด (เชียงใหม่), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), หาดขนุน (ภาคเหนือ), ฮัด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หาด (ทั่วไป-ภาคกลาง), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง-กำแพง), กาแย ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส), ขนุนป่า เป็นต้น
ลักษณะของมะหาด
ต้นมะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวเปลือกจะค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมา แห้งติด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท (แม้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย) ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย
ใบมะหาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้ามนหรือแหลมกว้าง และอาจเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟันเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้น ขนเหล่านั้นจะหลุดไปทำให้ใบเรียบเกลี้ยง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง มีเส้นใบข้างประมาณ 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องของใบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองอยู่หนาแน่น และมีหูใบขนาดเล็กบาง รูปหอกหลุดร่วงง่ายและมีขนปกคลุมหนาแน่น ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน และหนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตรใบมะหาด
ดอกมะหาด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นถึงสีชมพูอ่อน โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ดอกมะหาด
ผลมะหาด ผลเป็นสดและมีเนื้อ เป็นผลรวมสีเหลือง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองถึงสีชมพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมะหาดเป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลทา ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร โดยจะติผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผลมะหาด
ผงปวกหาด คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มะหาดที่มีอายุ 5 ขึ้นไป มาสับแล้วนำไปเคี่ยวต้มเอากากออก แล้วเอาผ้ากรองเอาน้ำออก ทำให้แห้งจะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้งก็จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน) แล้วนำไปย่างไฟให้เหลือง หลังจากนั้นนำมาบดให้เป็นผง ผงที่ได้เรียกว่า "ผงปวกหาด" มีรสร้อนเมา วิธีการใช้ให้นำเอาผงมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน
แก่นมะหาด


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นมะหาด คลิกที่นี่

เอกสารอ้างอิง

1.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “มะหาด”.  หน้า 60.
2.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะหาด (Mahat)”.  หน้า 240.
3.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะหาด”.  หน้า 57.
4.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “มะหาด”.  หน้า 643-645.
5.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [30 ก.ค. 2014].
6.ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ปวกหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [30 ก.ค. 2014].
7.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะหาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [30 ก.ค. 2014].
8.ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “มะหาด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [30 ก.ค. 2014].
9.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หาด, มะหาด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 ก.ค. 2014].
10.ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช).  “จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [30 ก.ค. 2014].
11. medthai.com. “มะหาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหาด 38 ข้อ ! “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/มะหาด/ [12/04/2019]

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by machabuca, Cerlin Ng, acroporablue, Chow Khoon Yeo), pg.pharm.su.ac.th, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น