ตะคร้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garuga pinnata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์มะแฟน (BURSERACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อ้อยน้ำ (จันทบุรี), กะตีบ แขกเต้า ค้ำ หวีด (ภาคเหนือ), คร้ำ ตำคร้ำ
(ไทย), เก๊าค้ำ ไม้หวิด ไม้ค้ำ (คนเมือง), ไม้ค้ำ
(ไทใหญ่), ปีซะออง ปิชะยอง (กะเหรี่ยง-จันทบุรี), กระโหม๊ะ (ขมุ), ลำคร้ำ ลำเมาะ (ลั้วะ), เจี้ยนต้องแหงง
(เมี่ยน) เป็นต้น
ลักษณะของตะคร้ำ
ต้นตะคร้ำ จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง
ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เมตร เมื่อโตวัดรอบ 100-200 เซนติเมตร
แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ เรือนยอดของต้น โคนต้นเป็นพูพอน
ตามกิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสีเทาขึ้นปกคลุมกระจายอยู่ทั่วไป และมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ตามกิ่ง
เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ดหรือเป็นหลุมตื้น ๆ ทั่วไป
ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีนวล มีทางสีชมพูสลับ และมียางสีชมพูปนแดงไหลออกเมื่อสับดู
โดยยางนี้หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำ ส่วนกระพี้จะเป็นสีชมพูอ่อน ๆ
และมีแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง
ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่ราบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ
ป่าดิบแล้งในที่ค่อนข้างราบและใกล้ลำห้วยทั่วไป ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณชื้น
ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-800 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศอินเดีย
พม่า ลาว กัมพูชา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใบตะคร้ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่
ออกเรียงเวียนสลับเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ก้านช่อหนึ่งจะมีใบย่อยประมาณ 7-13 ใบ
ออกเรียงตรงข้ามหรือทแยงกันเล็กน้อย และยาวประมาณ 10-12 นิ้ว
ตรงปลายก้านจะมีใบเพียงใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน
ปลายใบสอบหรือหยักเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือมนเบี้ยว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว
มีเส้นแขนงใบประมาณ 10-12 คู่ ใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนใบแก่จะเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ก้านใบสั้นมาก ใบแก่จะร่วงก่อนการผลิดอก และจะเริ่มผลิใบใหม่เมื่อดอกเริ่มบาน
ดอกตะคร้ำ
ออกดอกเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของต้น ช่อดอกยาวประมาณ 6 นิ้ว
ดอกย่อยมีจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์ ลักษณะของดอกเป็นรูประฆัง
กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก
ลักษณะของกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร
ส่วนกลีบดอกเป็นสีครีม สีเหลือง สีเหลืองอ่อน หรือสีชมพู มี 5 กลีบ
ออกเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ยาวประมาณ 2.5-3.5
มิลลิเมตร มีขน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน
ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อน 2 ใบ
ปลายหลอดท่อรังไข่มี 5 แฉก ก่อนจะออกดอกจะผลัดใบหมด
โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ผลตะคร้ำ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม อวบน้ำ
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ภายใน สีเขียวอมเหลือง
เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีเนื้อนุ่มแต่ภายในมีผิวแข็งหุ้ม
จะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของต้นตะคร้ำ คลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.
(ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ตะคร้ำ”.
หน้า 115.
2.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่
5. (ดร.วิทย์
เที่ยงบูรณธรรม). “ตำคร้ำ”. หน้า 303-304.
3.สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะคร้ำ”.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.
[21 ธ.ค. 2014].
4.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตะคร้ำ, หวีด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย
(เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6.
(ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน
ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ธ.ค. 2014].
5.ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะคร้ำ”.
อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the
Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [21 ธ.ค. 2014].
6. medthai.com. “ตะคร้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตะคร้ำ 16 ข้อ “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ตะคร้ำ/ [11/04/2019
ภาพประกอบ : www.flickr.com
(by Dinesh Valke, Shubhada Nikharge, Vijayasankar Raman)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น