หน้าเว็บ

โมกมัน


โมกมัน

 ชื่อสามัญ Ivory, Darabela, Karingi, Lanete
ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia arborea (Dennst.) Mabb
(ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wrightia tomentosa Roem. & Schult.)
 จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ต้นโมกมัน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูกน้อย มูกมัน (น่าน), โมกมันเหลือง (สระบุรี), มักมัน (สุราษฎร์ธานี), โมกน้อย (ทั่วไป), เส่ทือ แนแก แหน่แก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโมกมันอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกัน มีลักษณะของต้นและสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia pubescens R.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wrightia tomentosa var. cochinchinensis Pierre ex Pitard) และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูกเกื้อ (จันทบุรี), มูก โมก (ภาคกลาง) ส่วนชลบุรี, กาญจนบุรี และนครราชสีมาเรียก “โมกมัน” (เข้าใจว่าเป็นคนละชนิดเดียวกัน)

ลักษณะของโมกมัน



  • ต้นโมกมัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีเทาอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว มีขนสีขาวตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีรูอากาศมาก ที่เปลือกด้านในมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ชอบความชื้นปานกลาง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าโปร่งทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง 1,600 เมตร


  • ใบโมกมัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก พื้นผิวใบบางคล้ายแผ่นกระดาษ แผ่นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ด้านบนมีขนเฉพาะที่เส้นกลางใบหรือมีขนทั่วไป ส่วนด้านล่างมีขนที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบอย่างทั่วถึง มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย



  • ดอกโมกมัน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวอมเหลือ ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกและก้านดอกย่อยมีขนสั้นนุ่มขึ้นอยู่ประปรายถึงหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกบิด โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นรูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายหลอดกลีบดอกก้านดอกมีขนสั้นนุ่ม ส่วนด้านในเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด กระบังรอบที่ติดตรงข้ามกลีบดอกยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร ติดแนบเกือบตลอดความยาว ปลายจักเป็นซี่ฟัน กระบังรอบที่ติดสลับกับกลีบดอกยาวประมาณ 1.5- มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปแถบ ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ภายในหลอดดอกมีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้จะติดบนหลอดกลีบดอก โผล่พ้นมาจากปากหลอด อับเรณูเป็นรูปหัวลูกศร มีขนสั้นนุ่มที่ด้านนอก รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพลเชื่อม 2 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมนถึงแหลม มีขนสั้นนุ่มอยู่ประปรายถึงหนาแน่น กลีบเลี้ยงกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ดอกแรกบานจะเป็นสีขาวอมเหลือง ข้างนอกเป็นสีเขียวอ่อน และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีแดงม่วง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม
  • ผลโมกมัน ออกผลเป็นฝักยาวคิดคู่กันและห้อยลง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก เป็นร่อง 2 ร่อง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-11 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-14 นิ้ว พื้นผิวฝักเกลี้ยงหรือขรุขระ ไม่มีรูอากาศ ฝักเมื่อแก่เต็มแห้งแล้วจะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ที่ปลายด้านหนึ่งมีขนปุยสีขาวเป็นกระจุกติดอยู่ กระจุกขนยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ทำให้ปลิวไปตามลมได้ไกล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณและประโยชน์ของ โมกมัน คลิกที่นี้

แหล่งอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โมกมัน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 165.
2.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โมกมัน (Mok Mun)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 248.
3.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โมกมัน”.  หน้า 209.
4.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “โมกมัน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 650-651.
5.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [20 พ.ค. 2014].
6.สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โมก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [20 พ.ค. 2014].
7.ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โมกมัน”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [20 พ.ค. 2014].
8.ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [20 พ.ค. 2014].
9.พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [20 พ.ค. 2014].
10.ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [20 พ.ค. 2014].
11.ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [20 พ.ค. 2014].
12. Medthai.com “โมกมัน สรรพคุณและประโยชน์ของโมกมัน ”  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/โมกมัน [18/04/2019]



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น