ชื่อสามัญ : Java
tea, Kidney tea plant, Cat's whiskers
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Orthosiphon
aristatus (Blume) Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendranthus
spicatus (Thunb.) C.Y.Wu, Orthosiphon grandiflorus Bold., Orthosiphon stamineus
Benth.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรหญ้าหนวดแมว
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อีตู่ดง (เพชรบูรณ์), บางรักป่า
(ประจวบคีรีขันธ์), พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น
ลักษณะของหญ้าหนวดแมว
ต้นหญ้าหนวดแมว
จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดง
ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-0.8 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการเพาะเมล็ด
ใบหญ้าหนวดแมว
มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด
มีขอบใบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียวแหลม
ใบกว้างประมาณ 2-4.5 เซนิเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ดอกหญ้าหนวดแมว
ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก ปลายยอดดอกลักษณะคล้ายฉัตร มีความยาวประมาณ 10-15
เซนติเมตร มีริ้วประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน
ส่วนกลีบของดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังงอเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 2.5-4.5
มิลลิเมตร ออกดอกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์
คือพันธุ์ที่มีดอกสีขาวอมม่วงอ่อนและพันธุ์ที่มีดอกสีฟ้า
ดอกหญ้าหนวดแมวจะบานจากล่างขึ้นบน ดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 3-4 เส้น
เป็นเส้นยาวยื่นออกมานอกกลีบดอก มีลักษณะคล้ายหนวดแมว
และที่ปลายเกสรจะมีติ่งสีน้ำเงินอมม่วงอยู่
โดยหญ้าหนวดแมวนี้สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผลหญ้าหนวดแมว
ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน กว้าง และแบน มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร
ตามผิวมีรอยย่น เป็นผลแห้งไม่แตก
สมุนไพรหญ้าหนวดแมว เป็นสมุนไพรที่ขึ้นชื่อและมีการนำมาใช้รักษานิ่วและโรคทางเดินปัสสาวะมานานแล้ว
โดยมีผลงานวิจัยต่าง ๆ
มากมายที่ต่างก็ยืนยันสรรพคุณของหญ้าหนวดแมวว่ามันสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้จริง
แถมยังไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงเหมือนยาจากต่างประเทศ
ที่ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลียและมีอาการเบื่ออาหาร
แต่อาจจะมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่ดีเท่ากับยาจากต่างประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบ ผล เปลือกฝัก ราก และทั้งต้น
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณและประโยชน์ของหญ้านวดแมว คลิกที่นี่
แหล่งข้อมูล :
1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร,
สถาบันการแพทย์แผนไทย
2. Medthai.co “หญ้าหนวดแมว
สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว 20 ข้อ !”
[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/หญ้าหนวดแมว/
[18/04/2019]
3. ภาพประกอบ : Medthai.com, เว็บไซต์ fotopedia.com, เว็บไซต์ edwardsblock.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น