หน้าเว็บ

เล็บเหยี่ยว


ชื่อสามัญ: Jackal Jujube, Small-fruited Jujube, Wild Jujube
เล็บเหยี่ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus oenopolia (L.) Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhamnus oenopolia L.) จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE
สมุนไพรเล็บเหยี่ยว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ :ตาฉู่แม โลชูมี (เชียงใหม่), เล็บแมว ยับเยี่ยว (นครราชสีมา), แสงคำ (นครศรีธรรมราช), สั่งคัน (สุราษฎร์ธานี, ระนอง), เล็บหยิ่ว ยับหยิ่ว (คลองหอยโข่ง-สงขลา), มะตันขอ หมากหนาม หนามเล็บเหยี่ยว (ภาคเหนือ), บักเล็บแมว (ภาคอีสาน), พุทราขอ เล็ดเหยี่ยว เล็บเหยี่ยว (ภาคกลาง), ยับยิ้ว (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของเล็บเหยี่ยว

  • ต้นเล็บเหยี่ยว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง มีความยาวประมาณ 3-10 เมตร เถาและกิ่งมีหนามสั้นแหลมโค้ง เปลือกเถาเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เป็นสีดำเทา ส่วนกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดี และชอบแสงแดดจัด พบได้ทั่วไปตามป่า ตามเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าคืนสภาพ มีเขตการกระจายพันธุ์จากอนุทวีปอินเดียไปทางใต้ของประเทศจีนและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย




  • ใบเล็บเหยี่ยว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบรี ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบอ่อนทั้งสองด้านมีขนนุ่มสั้น ๆ ผิวใบด้านบนเรียบหรือมีขนด้วยเล็กน้อย ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มอยู่เป็นจำนวนมาก ใบมีเส้นใบ 3 ใบ ออกจากฐานใบไปปลายใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร



  • ดอกเล็บเหยี่ยว ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ช่อดอกยาวได้ประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย และก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับช่อดอกมี 1 อัน ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยจะมีประมาณ 5-11 ดอก กลีบดอกย่อยมี 5 กลีบ สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง รูปช้อน ปลายกลม ออกสลับกับกลีบเลี้ยง มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สีเขียวอมเหลือง ก้านชูเกสรแบน ยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ติดอยู่ที่ฐานกลีบดอก ส่วนอับเรณูเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่เกิดจาก 2 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลจะมีช่อง 1 ช่อง และ1 ออวุล ก้านและยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะคล้ายรูปขวด ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง จานฐานดอกมีขนาด 1.5 มิลลิเมตร ผิวขรุขระ สีเหลือง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายแฉกกว้าง 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายกลีบก้านนอกมีขนด้วยเล็กน้อย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม





  • ผลเล็บเหยี่ยว ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ มีก้านผลยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีขนกระจายอยู่ทั่วไป ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร ปลายกลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นเล็บเหยี่ยว คลิกที่นี่

แหล่งข้อมูล: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เล็บเหยี่ยว”.  หน้า 229 .

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เล็บเหยี่ยว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [31 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ข้อมูลเล็บเหยี่ยว”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [31 พ.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Ziziphus oenoplia”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Ziziphus_oenoplia.  [31 พ.ค. 2014].
medthai.com."เล็บเหยี่ยว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเล็บเหยี่ยว 20 ข้อ !
".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/เล็บเหยี่ยว [09/04/2019]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น