หน้าเว็บ

กฤษณา



ชื่อสามัญ: Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour, Lignum aloes
ชื่อวิทยาศาสตร์: Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aquilaria crasna Pierre) จัดอยู่ในวงศ์กฤษณา (THYMELAEACEAE)
สมุนไพรกฤษณา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (ปัตตานี, มาเลเซีย), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), อครุ ตคร (บาลี), ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (จีน), จะแน, พวมพร้าวปอห้า (คนเมือง), ชควอเซ ชควอสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ชนิดของกฤษณา
ไม้กฤษณา จัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข. และไม่อนุญาตให้ทำการตัดฟัน (เฉพาะในป่า) จึงมีการลักลอบตัดเพื่อนำแก่นไม้หอมมาขาย ทำให้ไม้กฤษณานั้นใกล้จะสูญพันธุ์เข้าไปทุกที โดยไม้ในสกุล Aquilaria มีอยู่ด้วยกันประมาณ 15 ชนิด มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียเขตร้อน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปปินส์ ในเอเชียใต้ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฏาน รัฐอัสสัม เบงกอล รวมทั้งกระจายพันธุ์ไปทางเอเชียเหนือไปจนถึงประเทศจีน สำหรับการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยจะมีกฤษณาอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น
Aquilaria subintegra Ding Hau (ชนิดใหม่ที่ค้นพบโดย Dr. Ding Hau) ชนิดนี้จะพบได้เฉพาะทางภาคตะวันออก
ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะพบได้ คือ Aquilaria rugosa, Aquilaria baillonil, และ Aquilaria hirta



ลักษณะของกฤษณา

  • ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกกฤษณาและการขยายพันธุ์ที่นิยมทำในปัจจุบันคือการขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้มีอายุได้ 1 ปีจึงค่อยย้ายไปปลูกในแปลง ส่วนวิธีอื่น ๆ นอกจากนี้ก็คือ การตอนกิ่งและการปักชำ,



  • ไม้กฤษณา ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนักและจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณายังสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่
เกรด 1 หรือที่เรียกว่า "ไม้ลูกแก่น" ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า "True agaru" เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำหรือหนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม),
เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา ต่างประเทศจะเรียกว่า "Dhum"โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (ราคา 8,000-10,000 บาท/กิโลกรัม)
เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือมีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม)
เกรด 4 หรืออาจเรียกว่า "ไม้ปาก" เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 400-600 บาท/กิโลกรัม)
ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีน้ำมันสะสมอยู่เลย จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำเช่นเดียวกัน



  • น้ำมันกฤษณา องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณาจะประกอบไปด้วยสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) อยู่มาก ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ Agarospirol, -Agarofuran, Agaro และ Dihydroagarofuran




  • ใบกฤษณา มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร



  • ดอกกฤษณา ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดทน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน



  • ผลกฤษณา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล โดยผลจะเริ่มแก่และแตกอ้าออกในช่วงเดือนสิงหาคม


คุณภาพของไม้กฤษณา
ชาวบ้านอาจเรียกชื่อของไม้กฤษณาแตกต่างกันออกไปได้ตามคุณภาพของไม้หอม เช่น "ไม้ลูกแก่น" (เกิดจากการเจาะไชของแมลงจนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน) จัดเป็นไม้หอมชั้นยอดและมีราคาแพงมาก ส่วนไม้หอมที่มีราคาสูงรองลงมาก็คือ "ไม้พุดซ้อน" (เกิดจากแมลงเจาะไชราก), "ไม้ลำเสา" (เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น), "ไม้มะเฟือง" (เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น), "ไม้เสี้ยนตาล" (มีเสี้ยนสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่) ชนิดนี้ก็มีราคาสูงเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าตามลักษณะการเกิดอีกด้วย เช่น "ไม้ปากกระโถน" (เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้นซึ่งเสื่อมสภาพกลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน), "ไม้ปากขวาง" (เกิดจากการใช้ขวานฟันแล้วทิ้งแผลไว้ 3 ปี จนมีสีเข้มมากรอบรอยฟัน หากทิ้งไว้นานถึง 100 ปี จะมีสีดำสนิทและถือเป็นไม้เกรดหนึ่ง), "ไม้ขนาบน้ำ" (เกิดจากการฉีกขาดของง่ามไม้)
ไม้กฤษณา ชนิดที่ดีที่สุดในโลก คือ "กฤษณาจากบ้านนา" (Agillah Bannah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และพบมากในเขตกัมพูชา แต่ในปัจจุบันกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้จากเขาใหญ่
ส่วนไม้กฤษณาที่คุณภาพต่ำ ได้แก่ "ไม้ตกหิน" (เนื้อเหลืองอ่อนคล้ายไม้ผุ), "ไม้ตกตะเคียน" (เนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลใต้รอยฟัน หากทิ้งไว้ประมาณ 6-7 เดือน จะมีสีเหมือนไม้ตะเคียน), "ไม้กระทิด" (ลักษณะเหมือนไม้ตกตะเคียน แต่สีของไม้จะเหมือนไม้กระทิด), "ไม้ตกฟาก" (ถูกไม้อื่นล้มทับจนเกิดแผลภายนอก) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปต้มกลั่นทำเป็นน้ำหอมได้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นกฤษณา คลิกที่นี่

แหล่งข้อมูล: สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  "กฤษณา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [22 พ.ย. 2013].
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  "กฤษณา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [22 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  "กฤษณา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [22 พ.ย. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.  "กฤษณา Aquilaria rugosa K. Le-Cong".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [22 พ.ย. 2013].
ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย.  "การนำส่วนต่าง ๆ ของกฤษณามาใช้ประโยชน์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikrisana.com.  [22 พ.ย. 2013].
เดอะแดนดอตคอม.  "กฤษณา".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [22 พ.ย. 2013].
medthai.com."กฤษณา สรรพคุณและประโยชน์ของไม้กฤษณา 75 ข้อ ! (ต้นกฤษณา, ไม้หอม)".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ไม้กฤษณา [12/04/2019]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น