หน้าเว็บ

ว่านสบู่เลือด

สบู่เลือดเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stephania venosa Spreng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clypea venosa Blume) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)
สมุนไพรว่านสบู่เลือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เป้าเลือด เปล้าเลือด เปล้าเลือดเครือ ชอเกอโท (ภาคเหนือ), กระท่อมเลือด (ภาคอีสาน), กลิ้งกลางดง (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), บอระเพ็ดยางแดง (ชายฝั่งทะเลภาคใต้), ฮ่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ท่อมเลือด เป้าเลือดโห ยาปู่หย่อง เป็นต้น
ว่านสบู่เลือดเถา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ สบู่เลือดตัวผู้และสบู่เลือดตัวเมีย โดยสบู่เลือดตัวผู้เมื่อนำก้านมาเด็ดดูจะพบว่ามีน้ำยางสีแดงคล้ายเลือดสด นอกจากนี้ว่านสบู่เลือดยังมักมีการเรียกชื่อปนกันกับว่านสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เช่น บอระเพ็ดพุงช้าง กลิ้งกลางดง สบู่แดง ฯลฯ เพียงแต่มีชื่อเรียกที่เหมือนกันว่า "สบู่เลือด"[7] โดยผู้เขียนขออธิบายดังนี้
  • บอระเพ็ดพุงช้าง หรือ กลิ้งกลางดง คือ สบู่เลือดเถาตัวเมีย ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนสบู่เลือดเถาตัวผู้ คือ Stephania venosa (Blume) Spreng. ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ง่าย ด้วยการเด็ดใบเพื่อดูสีของน้ำยาง ถ้ายางไม่เป็นสีแดงจะเรียกว่า "บอระเพ็ดพุงช้าง"
  • สบู่แดง ก็มีชื่อเรียกท้องถิ่นทางปัตตานีว่า "สบู่เลือด" เช่นกัน โดยสบู่แดงชนิดนี้จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha gossypiifolia L. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
หัวว่านสบู่เลือด


ลักษณะของว่านสบู่เลือด
สบู่เลือดมีอยู่ด้วย 2 ชนิด คือ
  1. สบู่เลือดเถาตัวผู้ ใบมีสีเขียวอมแดง ส่วนก้านและเถาอ่อนมีสีม่วงแดง หัวมีลักษณะกลมโต ผิวขรุขระ มียางสีแดงเข้มคล้ายกับเลือด เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม เมื่อนำไปตากแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
  2. สบู่เลือดเถาตัวเมีย ใบมีสีเขียว ก้านและเถามีสีเขียว ดอกมีสีเขียวอมขาว และยางแดงจาง ๆ คล้ายน้ำเหลือง ลักษณะของหัวจะกลมเล็ก เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อน ๆ และผิวเรียบ ชนิดนี้จะไม่มีเลือด และผู้เขียนเข้าใจว่ามันคือ "บอระเพ็ดพุงช้าง" โดยหัวตัวเมียจะนิยมนำมาทำเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงกำหนัด ด้วยการนำมาเคี้ยวแบบสด ๆ หรือนำมาต้มกิน หรือดองกินก็ได้
ต้นสบู่เลือด

หัวกระท่อมเลือด


ต้นว่านสบู่เลือด จัดเป็นไม้เลื้อย กิ่งและก้านมีน้ำยางสีแดงคล้ายเลือด เถาเกลี้ยง มีลำต้นอยู่บนดิน มีอายุราวหนึ่งปี โดยลำต้นงอกมาจากหัวขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะกลมแป้น โดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดเท่าลูกฟุตบอล หากมีอายุหลายปีอาจมีขนาดใหญ่เท่าโอ่งมังกร เปลือกหัวมีสีน้ำตาล เนื้อในมีสีขาวนวล มีรสชาติมันและเฝื่อนเล็กน้อย เป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน และมักจะตายหรือทรุดโทรมในช่วงฤดูแล้ง เมื่อถึงหน้าฝนจะแทงต้นขึ้นมาใหม่ พบขึ้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยหัวและเมล็ด
ว่านสบู่เลือด

ว่านสบู่เลือดเถา

ใบว่านสบู่เลือด มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปแกมสามเหลี่ยมกว้างหรือเป็นรูปไข่แกมหัวใจ โคนใบเป็นรูปตัดหรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบแหลมหรือมีติ่งเล็กน้อย ขอบใบเว้าเล็กน้อยทำให้ใบมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างสามเหลี่ยม และขอบใบหรือแผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียดอยู่เล็กน้อย และเป็นมันวาวเล็กน้อย มักเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร
สมุนไพรว่านสบู่เลือด

ใบกระท่อมเลือด

ดอกว่านสบู่เลือด ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อแบบซี่ร่ม มีความยาวประมาณ 4-16 เซนติเมตร มีช่อย่อยเป็นกระจุก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมี 6 กลีบ ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงด้านในเป็นรูปไข่กลับหรือรูปสามเหลี่ยมกลับมีอยู่ 3 กลีบ ยาวประมาณ 1.25 มิลลิเมตร โดยเกสรตัวผู้จะติดรวมกันอยู่ที่ก้าน มีลักษณะเป็นวงแหวน ก้านชูเกสรยาวประมาณ 1-1.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียมักจะหนาแน่นกว่า บางช่อค่อนข้างจะติดกัน ก้านดอกสั้นมาก มีกลีบเลี้ยง 1 กลีบเป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร กลีบดอกคล้ายรูปไต ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร มีรังไข่ค่อนข้างเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบของดอกมีสีส้ม

ผลว่านสบู่เลือด ผลสด ผลเป็นแบบเมล็ดเดียวเปลือกเมล็ดแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร
เมล็ดว่านสบู่เลือด

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณและประโยชน์ของว่านสบู่เลือด คลิกที่นี่

แหล่งข้อมูล :
1. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  "กระท่อมเลือด".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  "กระท่อมเลือด".  อ้างอิงใน: หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  "Stephania venosa (Blume.) Spreng".  อ้างอิงใน: 4. หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [11 พ.ย. 2013].
5. จำรัส เซ็นนิล.  "สบู่เลือด แก้ลมชัก-ไตพิการ".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [10 พ.ย. 2013].
6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  "เปล้าเลือด".  อ้างอิงใน: หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
7. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  "กลิ้งกลางดง".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
หนังสือสมุนไพรกำจัดโรค.  (คีตะธารา).
8. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ .  "กระท่อมเลือด…แดงปลั่ง ให้กำลังหญิงชาย".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [11 พ.ย. 2013].
9. PP Miracle Herb.  "สมุนไพรว่านสบู่เลือด".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ppmiracleherb.com.  [11 พ.ย. 2013].
10. Medthai.co “43 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านสบู่เลือด ! (กระท่อมเลือด)”  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ว่านสบู่เลือด/ [18/04/2019]
11. ภาพประกอบ : www.flickr.com (by MOBBS | モブス | Greenish Grocery), เว็บไซต์ thaiforestherb.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น