ชื่อสามัญ กำแพงเจ็ดชั้น
ชื่อท้องถิ่น ตะลุ่มนก (ราชบุรี) ตาไก้ (พิษณุโลก)
น้ำนอง มะต่อมไก่ (เหนือ) หลุมนก (ใต้) ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง); ขาวไก่, เครือตากวาง, ตากวาง,
ตาไก่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กระดุมนก
(ประจวบคีรีขันธ์); กลุมนก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L.
ชื่อพ้อง Salacia prinoides
ชื่อวงศ์ Celastraceae
(Hippocrateaceae)
- ต้นกำแพงเจ็ดชั้น จัดเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง มีความสูงของต้นประมาณ 2-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ มีสีเทานวล ด้านในเนื้อไม้มีวงปีเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นได้ชัดเจน เรียงซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-9 ชั้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าชายทะเล ตามป่าดิบริมแหล่งน้ำหรือที่โล่ง และป่าเบญจพรรณ ที่มีความระดับความสูงถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
- ใบกำแพงเจ็ดชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน สลับตั้งฉาก ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปวงรี หรือรูปวงรีกว้าง หรือรูปวงรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ หรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมน ส่วนโคนสอบ ขอบเป็นหยักหยาบ ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ผิวด้านบนและด้านล่างของใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-10 คู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร
- ดอกกำแพงเจ็ดชั้น ออกดอกเป็นช่อ แบบเป็นกระจุกหรือช่อแยกเป็นแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบหรือกิ่งก้าน ดอกมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลีบ 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนและบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอกในแต่ละช่อ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปรี มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดเล็กมาก ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ที่ขอบเป็นชายครุย ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปถ้วยลักษณะคล้ายถุง และมีปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามขอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 3 ก้าน ติดบนขอบจานของฐานดอก ก้านเกสรสั้น มีอับเรณูเป็นรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม และยังมีรังไข่ซ่อนอยู่ในจานฐานดอก 3 ช่อง มีออวุล 2 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรตัวเมียสั้น และก้านดอกมีความยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
- ผลกำแพงเจ็ดชั้น ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นรูปกระสวยกว้างหรือรูปรี ผิวเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้ม และภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะกลม มีขนาดใกล้เคียงกับผล ผลสามารถรับประทานได้
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณของกำแพงเจ็ดชั้น คลิกที่นี่
แหล่งอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [14 ต.ค. 2013].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. "กำแพงเจ็ดชั้น
ไม้ชื่อแปลกช่วยบำรุงโลหิต".
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [14 ต.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. อ้างอิงใน:
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [14 ต.ค. 2013].
- กรมปศุสัตว์.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th. [14 ต.ค. 2013].
- เดอะแดนดอตคอม. "Gallery ดอกกำแพงเจ็ดชั้น". [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.
[14 ต.ค. 2013].
- ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "การศึกษาความหลากหลายพรรณพืชสมุนไพร ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร". (ชัยรัตน์ รัตนดำรงภิญโญ).
ภาพประกอบ : www.the-than.com,
www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by Russell Cumming)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น