หน้าเว็บ

มะคำดีควาย


มะคำดีควาย
มะคําดีควาย


สมุนไพรมะคำดีควาย หรือ ประคำดีควาย เป็นชื่อของพรรณไม้ 2 ชนิด ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน (สามารถนำมาใช้แทนกันได้) ได้แก่
มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f.) มีชื่อสามัญว่า Soap Nut Tree และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประคำดีควาย (ภาคกลาง), มะซัก ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 คู่
มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus trifoliatus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus emarginatus Vahl, Sapindus laurifolius Vahl) มีชื่อสามัญว่า Soapberry Tree และมีชื่อเรียกอื่นว่า "ประคำดีควาย" ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเพียง 2-4 ใบ (บางข้อมูลว่ามี 4-6 ใบย่อย)
ลักษณะของมะคำดีควาย

  • ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ต้นมะคำดีควาย

  • ใบมะคำดีควาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว
ใบมะคำดีควาย

  • ดอกมะคำดีควาย ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน
ดอกมะคำดีควาย

  • ผลมะคำดีควาย ผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง
ลูกประคำดีควาย
หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าชนิดใบรีแกมรูปขอบขนาน คือ มะคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus emarginatus Wall. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร) ส่วนชนิดใบเป็นรูปหอก คือ ประคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak A. DC. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นมะคำดีควาย คลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  ประคำดีควาย”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 445-446.
2.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประคําดีควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 เม.ย. 2014].
3.ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะคําดีควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [18 เม.ย. 2014].
4.ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.
5.หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์.  (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).
6.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  มะคําดีควาย”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 218.
7.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะคำดีควาย”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 151.
8.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะคำดีควาย Soapberry”.  หน้า 183.
9.หนังสือสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน.  (ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ และศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์).  “มะคําดีควาย”.
10.ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “อาจารย์ มมส เผยงานวิจัย... ใช้ประคำดีควายกำจัดหอยเชอรี่ได้ผล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/index.php.  [18 เม.ย. 2014]
11. medthai.com. “มะคําดีควาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะคำดีควาย 28 ข้อ “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/มะคำดีควาย/ [16/04/2019]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mamatha Rao, Dinesh Valke)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น