มะกอก
ชื่อสามัญ Hog plum, Wild
Mango
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias
pinnata (L. f.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กูก กอกกุก (เชียงราย), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), ไพแซ
(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กอกหมอง
(เงี้ยว-เชียงใหม่), กราไพ้ย ไพ้ย
(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ
(กะเหรี่ยงแดง), กอกป่า (เมี่ยน), มะกอกไทย
(ไทลื้อ), มะกอกป่า (เมี่ยน), สือก้วยโหยว
(ม้ง), โค่ยพล่าละ แผละค้อก เพี๊ยะค๊อก ลำปูนล (ลั้วะ), ตุ๊ดกุ๊ก (ขมุ), ไฮ่บิ้ง
(ปะหล่อง), เป็นต้น
หมายเหตุ : โดยทั่วไปแล้วมะกอกจะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด
ได้แก่ มะกอกป่า มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ และมะกอกโอลีฟ
ในบทความนี้เราจะพูดถึงมะกอกไทยหรือมะกอกป่าเท่านั้น โดยมะกอกป่า (มะกอกไทย)
เป็นมะกอกชนิดที่เราจะนิยมนำมาใส่ในส้มต้ม ส่วนมะกอกฝรั่ง (มะกอกหวาน)
เป็นมะกอกที่นิยมนำมารับประทานสดเป็นผลไม้หรือนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ ส่วนมะกอกน้ำ
(สารภีน้ำ, สมอพิพ่าย)
เป็นมะกอกที่เอามาใช้ในการดองและแช่อิ่ม และมะกอกโอลีฟ
เป็นมะกอกที่นำมาทำเป็นน้ำมันมะกอกนั่นเอง
ลักษณะของมะกอก
- ต้นมะกอก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นตั้งตรงและมีลักษณะกลม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง เปลือกต้นเป็นสีเทา เปลือกหนาเรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย และมีรูอากาศตามลำต้น กิ่งอ่อนมีรอยแผลการหลุดร่วงของใบ ตามเปลือก ใบ และผลมีกลิ่นหอม มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าแดง และป่าดิบแล้งทุกภาคของประเทศไทย
- ใบมะกอก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ โดยจะออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยวหรือขอบไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างนุ่ม ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเรียบ มีก้านใบร่วมยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร
- ดอกมะกอก ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ดอกย่อยเป็นสีครีม มีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
- ผลมะกอก ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเหลืองอมสีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ประไปด้วยจุดสีเหลืองและดำ มีรสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่และแข็งมาก ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยนและขรุขระ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
ประโยชน์และสรรพคุณของต้นมะกอก คลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะกอก (Ma Kok)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 211.
2.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.
“มะกอก Hog Plum”.
(ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 204.
3.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะกอก”.
(พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 146.
4.“มะกอก”.
(ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [15 พ.ค. 2014].
5.“Hog plum”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง
(องค์กรมหาชน). อ้างอิงใน:
หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 พ.ค. 2014].
6. “มะกอก ผักพื้นบ้านที่ไม่ชอบคนเจ้าเล่ห์”. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 180 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.
(เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [15 พ.ค. 2014].
7.“มะกอกป่า”.
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 พ.ค. 2014].
8. “เรื่องมะกอก”.
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม
ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ,
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [15 พ.ค. 2014].
9. medthai.com. “มะกอก
สรรพคุณประโยชน์ของมะกอกไทย 26 ! (มะกอกป่า) “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/มะกอก/ [16/04/2019]
ภาพประกอบ : www.flickr.com
(by Shubhada Nikharge, Dinesh Valke, cpmkutty), www.hinsorn.ac.th,
www.anacardiaceae.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น