หางไหลแดง
ชื่อสามัญ Tuba Root,
Derris
ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris
elliptica (Wall.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว
FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะลำเพาะ (เพชรบุรี), อวดน้ำ (สุราษฎร์ธานี), ไหลน้ำ ไกล
เครือไกลน้ำ (ภาคเหนือ), โพตะโกส้า
(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โล่ติ๊น
เป็นต้น
ลักษณะของหางไหลแดง
- ต้นหางไหลแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จัดเป็นไม้เถา มีเนื้อไม้แข็ง มีรูอากาศสีขาวกระจายตามกิ่งและเถา เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่เป็นสีน้ำตาลปนแดง แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นได้ชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ลำต้นโดยทั่วไปจะมีลักษณะกลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่นิยมปักชำส่วนของลำต้นมากกว่า ขึ้นได้ดีในสภาพดินหลายชนิดตั้งแต่ดินทรายหยาบไปจนถึงดินเหนียวจัด แต่ไม่เหมาะนำมาปลูกในสภาพดินที่มีน้ำท่วมขัง พืชชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ติดต่อกันนานถึง 4 เดือน โดยมากจะพบขึ้นตามบริเวณแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนทางภาคกลางจะพบได้มากแถวจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี และในท้องที่ใกล้เคียง
- ใบหางไหลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 9-13 ใบ ใบคู่แรกที่นับจากโคนจะมีขนาดเล็กสุดและจะเริ่มใหญ่ขึ้นตามลำดับจนถึงใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดซึ่งเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเล็กเรียวขึ้นไป ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร (อาจจะเล็กหรือใหญ่กว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) ใบแก่เป็นสีเขียว ลักษณะมัน แผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือหลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน เส้นใบเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มองเห็นเส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัดแต่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบเป็นสีเขียวและจะเห็นเส้นใบได้ชัดกว่าด้านบน ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง มีขนสีน้ำตาลแดง
- ดอกหางไหลแดง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อดอกแต่ละช่อมีความยาวประมาณ 22.5-30 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกเป็นสีชมพูหรือสีชมพูแกมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อนและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างเป็นรูปโล่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูประฆังมีขน กลีบเลี้ยงยาวได้ประมาณ 6 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นมัดเดียว รังไข่มีขนอุย
- ผลหางไหลแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายและโคนฝักแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-8.5 เซนติเมตร คอดตามแนวของเมล็ด ฝักอ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและแบนเล็กน้อย มีสีน้ำตาลปนแดง เมื่อฝักแก่ฝักจะแยกออกจากกัน และเมล็ดจะร่วงหล่นลงพื้นดิน ถ้ามีความชื้นเหมาะสม เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป
หมายเหตุ : ในเมืองไทยพืชในสกุลนี้จะมีอยู่ประมาณ 21 ชนิด แต่จะมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่มีสารโรตีโนนปริมาณมากและนิยมปลูกเป็นการค้า
ได้แก่ หางไหลแดง (Derris elliptica Benth.) และหางไหลขาว (Derris malaccensis Prain.) โดยพบว่ามีสารพิษโรตีโนนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย
4-5% ซึ่งในบ้านเรานั้นจะพบหางไหลแดงมากกว่าหางไหลขาว
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “หางไหลแดง”.
หน้า 192.
2.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.
(คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).
“โล่ติ๊น Tuba Root/Derris”. หน้า 100.
3.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
“หางไหลแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [28 ก.ย. 2014].
4.e-book การเกษตร
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ผลงานของกรมวิชาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หางไหลแดง-โล่ติ๊น”.
5. medthai.com. “หางไหล
สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหางไหลแดง 8 ข้อ “ [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/หางไหลแดง/ [12/04/2019]
ภาพประกอบ : www.flickr.com
(by Forest and Kim Starr, 翁明毅), www.biogang.net (by Charity)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น