หน้าเว็บ

ต้นมะม่วงป่า

วงศ์: Anacardiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mangifera caloneura Kurz
ชื่อสามัญ: Mango tree (Mangifera caloneura Kurz)
ชื่อท้องถิ่น: มะม่วงป่า (ทั่วไป) จ๋องบั้วกู่ (ม้ง) แผละเส้ดโย (ลั้วะ) มะโมงเดี๋ยง (เมี่ยน) หมากม่วงป่า (อีสาน) มะม่วงเทพรส (ราชบุรี) มะม่วงกะล่อน (ประจวบคีรีขันธ์) มะม่วงราวา, ราวอ (นราธิวาส) มะม่วงละว้า(ภาคใต้)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะม่วงป่า เป็นมะม่วงพันธุ์ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในพม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา รวมถึงประเทศไทย พบแพร่กระจายตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นหรือป่าพรุ ซึ่งลักษณะลำต้น ใบ และผลจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น
มะม่วงป่า เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 20-25 เมตร ลำต้นกลม และตั้งตรง
ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มบริเวณปลายลำต้น จำนวนกิ่งปานกลาง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา เปลือกแตกเป็นร่องสี่เหลี่ยมตามแนวยาว เปลือกลำต้นด้านในมีสีเหลือง แต่เมื่อถากทิ้งให้สัมผัสอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมดำ ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างได้


  • ใบ
ใบมะม่วงป่า ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงออกสลับกันตามกิ่ง ใบมีก้านใบสีเขียว ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก ฐานใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบเหนียว มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขอบใบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.5-20 เซนติเมตร ยอดอ่อนหรือใบอ่อนมีสีม่วงอมแดง


  • ดอก
ดอกมะม่วงป่า ออกเป็นช่อแขนง แทงออกบริเวณยอดกิ่ง แต่ละช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อย และแต่ละช่อดอกย่อยมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีลักษณะกลม มีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ และกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ 5 อัน เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมอบอวน ทั้งนี้ ดอกย่อยมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และไม่สมบูรณ์เพศ

ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงป่า มีรูปทรงกลม ขนาดผลประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3.2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง และสุกจัดเป็นสีเหลืองทั่วผล พร้อมส่งกลิ่นหอม เปลือกผลบาง เนื้อผลเมื่อสุกมีสีเหลือง และค่อนข้างบาง ส่วนเมล็ดมีขนาดใหญ่ มีลักษณะกลม และค่อนข้างแบน เปลือกเมล็ดแข็ง และเป็นร่องตามแนวตั้งทั่วเปลือก


  • ฤดูออกดอก และติดผล

ดอกมะม่วงป่าจะออกดอกก่อนมะม่วงพันธุ์อื่นๆ คือในช่วงประมาณเดือนธันวาคม และเริ่มติดผลหลังออกดอกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม และสามารถเก็บผลดิบรับประทานได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นมะม่วงป่า คลิกที่นี่

แหล่งอ้างอิง
(1) http://adeq.or.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://adeq.or.th/มะม่วงป่า/.
(2) http://www.dnp.go.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้/ป่าพรุ/มะม่วงป่า/มะม่วงป่า.htm/.
(3) http://www.natres.psu.ac.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/2013-10-26-10-11-55/9-uncategorised/78-2013-10-27-09-17-22/.
(4) http://qsds.go.th/, พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ : มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://qsds.go.th/webtreecolor/tree.php?idtree=7/.
(5) http://eherb.hrdi.or.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=1041&name=มะม่วงป่า/.
(6) http://biodiversity.forest.go.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=4&view=showone&Itemid=59.
(7) puechkaset.com."มะม่วงป่า ประโยชน์ และสรรพคุณมะม่วงป่า
".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://puechkaset.com/มะม่วงป่า [09/04/2019]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น