ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus
reticulatus Poir. ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรก้างปลาเครือ
มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้างปลาขาว (เชียงใหม่, อ่างทอง),
หมัดคำ (แพร่), อำอ้าย (นครราชสีมา), หมาเยี่ยว (นครปฐม), ข่าคล่อง (สุพรรณบุรี), กระออง (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง
(สุราษฎร์ธานี), ขี้เฮียด ก้างปลาเครือ (ทั่วไป), ต่าคะโค่คึย สะแบรที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เกล็ดปลาน้อย
เป็นต้น
ลักษณะของก้างปลาเครือ
ต้นก้างปลาเครือ
จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเถาหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 4 เมตร
มีขนเล็กน้อย กิ่งมีขนาดเล็ก ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี และมีแสงแดดปานกลาง
พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ
ใบก้างปลาเครือ
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน
ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบเกลี้ยง
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7-3.5
เซนติเมตร เส้นใบมี 5-9 คู่ หูใบเป็นรูปใบหอก
ปลายเรียวแหลม โคนตัด เนื้อบางแห้ง ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร
ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร
ดอกก้างปลาเครือ
ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ช่อละ 1-3 ดอก โดยจะออกตามใบ ห้อยลงใต้ใบ
มีลักษณะเล็กเป็นทรงกลมรี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้
มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมแดง ขนาดกว้างประมาณ 0.75-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ
1.7-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกไม่มี มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แยกหรือติดกัน
จานฐานดอกมี 5-6 พู ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่มีรังไข่ 8-10 ช่อง
มีออวุล 2 หน่วยต่อหนึ่งช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีขนาดสั้นมาก ส่วนมากจะแยกออกเป็น 2 แฉก
ผลก้างปลาเครือ
ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำ สีแดง เมื่อสุกเป็นสีดำกลมโต
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดประมาณ 8-16 เมล็ด
หน้าตัดของเมล็ดเป็นรูป 3 เหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณและประโยช์นของก้างปลาเครือ คลิกที่นี่
แหล่งข้อมูล :
1. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ก้างปลาเครือ”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [18 มิ.ย. 2015].
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ก้างปลาเครือ”. อ้างอิงใน :
หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
[18 มิ.ย. 2015].
3. กรีนคลินิก. “ก้างปลา”.
[ออนไลน์]. อ้างอิงใน :
หนังสือเครื่องยาไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), พฤกษาน่าสน. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [18 มิ.ย. 2015].
4. Medthai.co “ก้างปลาเครือ
สรรพคุณและประโยชน์ของต้นก้างปลาเครือ 12 ข้อ !”
[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/ก้างปลาเครือ/
[15/04/2019]
5. ภาพประกอบ : www.flickr.com
(by Chiau-Bun Ong, Russell Cumming, Nelindah, Anurag Sharma, judymonkey17)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น