กระดังงาไทย
ชื่อสามัญ: Cananga, Ylang-Ylang,
Ilang-Ilang (อิลาง-อิลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cananga odorata
(Lam.) Hook.f. & Thomson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Uvaria
odorata Lam.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
สมุนไพรกระดังงาไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ:กระดังงา (ยะลา, ตรัง), กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง),
สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ) เป็นต้น
ลักษณะของต้นกระดังงา
ต้นกระดังงาไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง
มีความสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง
เปลือกต้นเป็นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป
ส่วนที่ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือตอนกิ่ง
ออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี
ใบกระดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง
ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบมนกลมหรือเบี้ยว
ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร
และกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบและนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ
เส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจน ผิวใบบางเรียบและนิ่ม ใบอ่อนมีขนขึ้นทั้งสองด้าน
ส่วนใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
ดอกกระดังงาไทย ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง
ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3-6 ดอก
ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร
ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร
ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ
3 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม
ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา)
กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5
เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย
โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ
ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร
มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก
เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์และสรรพคุณของต้นกระดังงา คลิกที่นี่
แหล่งข้อมูล: “กระดังงาไทย”. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 ส.ค. 2016].
เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, วิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี
medthai.com."กระดังงา
สรรพคุณและประโยชน์ของกระดังงาไทย 30 ข้อ !".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/กระดังงา [12/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น