ชื่อวิทยาศาสตร์: Boesenbergia
rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรกระชาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ:ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพมหานคร), กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม), จี๊ปู
ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน),
ละแอน (ภาคเหนือ), ขิงจีน เป็นต้น
ลักษณะของกระชายเหลือง
- ต้นกระชาย มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบ
เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว มีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ออกเป็นกระจุก ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
มักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น
- ใบกระชาย คือลักษณะของส่วนที่อยู่เหนือดิน
มีประมาณ 2-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ
ลักษณะเป็นรูปรี ใบยาวประมาณ 12-50 เซนติเมตรและกว้างประมาณ
5-12 เซนติเมตร โคนใบมนหรือแหลม ส่วนปลายใบเรียวแหลม
มีขอบเรียบ เส้นกลางใบ ด้านใบ และกาบใบด้านบนจะเป็นร่อง ส่วนด้านล่างจะนูนเป็นสัน
ด้านใบเรียบมีความยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ส่วนกาบใบเป็นสีชมพูยาวประมาณ
7-25 เซนติเมตร ระหว่างก้านใบและกาบใบจะมีลิ้นใบ
- ดอกกระชาย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด
โดยจะออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
แต่ละดอกจะมีใบประดับ 2 ใบ มีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ
เป็นรูปใบหอกกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4.5
เซนติเมตร ที่กลีบเลี้ยงมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน
โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายจะแยกเป็น
3 แฉก ส่วนกลีบดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน
โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร และปลายแยกเป็น 3
กลีบ เป็นรูปใบหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่มี 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.8
เซนติเมตร ส่วนอีก 2 กลีบจะมีขนาดเท่ากัน
กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 6 อัน แต่มี 5
อันที่เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนมีสีชมพู รูปไข่กลับขนาดเท่ากัน มีความกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ส่วนอีก
3 กลีบล่างมีสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง มีความกว้างประมาณ 2
เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร
และที่ปลายจะแผ่กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร
มีสีชมพูหรือสีม่วงแดงเป็นเส้นอยู่เกือบทั้งกลีบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ จะมีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์อยู่ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรตัวเมีย
- ผลกระชาย ผลแก่จะแตกเป็น
3 เสี่ยง มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่
กระชาย มีอยู่ด้วยกัน
3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง
(แต่ในบทความนี้เราจะพูดกันถึงกระชายเหลืองครับ)
โดยกระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี
สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่า หรือผัดต่าง ๆ โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารกันมากที่สุดคือ
รากสะสมอาหาร หรือที่เรียกว่า "นมกระชาย"
ซึ่งรากกระชายนี้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง
แต่คนส่วนใหญ่มักจะนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องแกงซะมากกว่า
เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี
กระชายที่นิยมใช้กันก็คือกระชายเหลืองและกระชายดำ
ซึ่งกระชายดำปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม จนทำให้กระชายเหลืองถูกลดความสำคัญลงไป
แต่ว่ากันว่าในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพร กระชายเหลืองนั้นดีกว่ากระชายดำ
เพราะบางทีเราก็คิดไปเองว่าสมุนไพรถ้าเป็นสีเข้มกว่าก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า
แถมกระชายดำยังได้รับการโปรโมตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ทำให้คนทั่วไปหลงคิดว่ากระชายดำนั้นดีกว่ากระชายเหลืองนั่นเอง
แหล่งข้อมูล :
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย
สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์),
เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,
เว็บไซต์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดพะเยา, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
medthai.com."กระชาย
สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายเหลือง 49 ข้อ !".[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/กระชาย [12/04/2019]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น